การทำความดีในพระพุทธศาสนานั้นจำแนกออกเป็น 3 ประเภทหลัก ๆ คือ
1) ทานมัย การให้ทาน เช่น ตักบาตร ปล่อยนก ปล่อยปลา ไถ่ชีวิตโค
2) สีลมัย การรักษาศีล ไม่ประพฤติชั่ว ทางกาย วาจา เช่น ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ทำผิดในเรื่องเพศ ไม่พูดโกหก ไม่ดื่มสุราเสพของมึนเมา
3) ภาวนามัย การชำระจิตของตนให้ผ่องใส สงบจากกิเลสโลภ โกรธ หลง
ในการทำความดีทั้ง ๓ อย่างนั้น พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญว่า ภาวนามัย มีอานิสงส์มากที่สุด เพราะกรรมหรือการกระทำทุกอย่าง ล้วนเกิดจากใจ มีใจเป็นผู้นำ ถ้าใจดีแล้วการพูดการกระทำทุกอย่างก็จะดีไปตาม เราสังเกตดูว่าในแต่ละวันของเรา ช่วงใดที่อารมณ์ดี จิตใจแจ่มใส ไม่ว่าจะทำอะไรก็รู้สึกดีไปหมด แต่ถ้าหากช่วงไหน เวลาใดมีเรื่องเครียด เกิดปัญหา จิตใจเศร้าหมอง จะทำอะไรก็ขัดหูเคืองตา หงุดหงิด เศร้าหมอง
ใจจึงเป็นบ่อเกิดของความสุข ความทุกข์ ของมนุษย์ และคำสอนทั้งหมดทั้งสิ้นของพุทธศาสนาก็มีจุดประสงค์เพื่อการพัฒนาใจเป็นหลัก
การให้ทาน แม้จะเป็นการเอื้อเฟื้อ ช่วยเหลือผู้อื่นให้เป็นสุข แต่จุดประสงค์ของการให้ทานอยู่การชำระความตระหนี่ ความโลภที่อยู่ในใจให้เบาบางลง ยิ่งเราให้มากเท่าไร ใจของเราก็จะมีความโลภความเห็นแก่ตัวน้อยลงมากเท่านั้น (ทั้งนี้ไม่รวมถึงการให้เพื่อหวังผลประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งตอบแทน)
การสวดมนต์ ไม่ว่าจะสวดมนต์ประจำวัน สวดมนต์ก่อนนอน หรือสวดมนต์ข้ามปีก็ตาม
จุดประสงค์หลักมี ๒ ประการ คือเพื่อฝึกฝนอบรมจิตให้เกิดความสงบเย็นและเพื่อศึกษาธรรมอันเป็นหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ก่อให้เกิดปัญญาเข้าใจถึงหลักความจริง สามารถนำไปแก้ไข ป้องกัน บรรเทาความทุกข์ต่างๆ ได้
พูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ การสวดมนต์เป็นอุบายฝึกจิตให้เป็นสมาธิอย่างหนึ่งและเป็นอุบายให้เกิดปัญญาในธรรมอย่างหนึ่ง
มีครูบาอาจารย์หลายท่านเคยกล่าวเอาไว้ว่า การสวดมนต์หนึ่งครั้งเท่าได้สร้างบารมี ๑๐ ประการไปในคราวเดียวกัน กล่าวคือ
๑) การสวดมนต์ออกเสียงไปให้ผู้อื่นได้ยิน
การกล่าวอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้กับพ่อแม่ ครูอาจารย์ เจ้ากรรมนายเวร เทพเทวดา ข้อนี้จัดเป็น ทานบารมี
๒) การอาราธนาศีล ๕ ก่อนสวดมนต์ก็ดี การประณมมือก็ดี การเปล่งวาจาสวดบทสวดก็ดี ขณะสวดกาย วาจาสงบไม่ได้เบียดเบียนใคร ใจไม่คิดทำปาณาติบาต หรืออทินนาทาน ข้อนี้จัดเป็นสีลบารมี
๓) การพักกายพักใจละเว้นจากกิจการงานต่างๆ ที่เป็นกิจทางโลก ปลีกตัวจากเรื่องวุ่นวาย ปล่อยวางภาระมาพักใจให้สงบกับการสวดมนต์ซึ่งเป็นกิจทางธรรม ข้อนี้เป็น เนกขัมมบารมี
๔) การสวดมนต์เป็นการศึกษาพระธรรม
และให้มีสติเกิดปัญญาในการคิดแก้ไขปัญหาตรึกธรรมให้ลึกซึ้งขึ้น ข้อนี้เป็นปัญญาบารมี
๕) การสวดมนต์แต่ละครั้ง ผู้สวดต้องใช้ความพากเพียรมากมายในการเอาชนะอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเวลาก่อนสวด ขณะสวด หรือหลังสวด เช่น ความขี้เกียจ ความคิดหรือคำพูดที่ชักให้เลิกล้มการสวดมนต์ข้อนี้จัดเป็น วิริยะบารมี
๖) การสวดต้องใช้ความอดทนเป็นมาก
ทั้งทางกายที่ต้องนั่งสวด ประนมมือ อยู่ท่าเดิมนานๆ ทางวาจาที่ต้องเปล่งเสียงสวดให้ถูกต้อง ทางใจคืออดทนต่อความคิดต่างๆ ที่แรกเข้าในขณะสวด ข้อนี้จัดเป็นขันติบารมี
๗) การที่เราตั้งใจล่วงหน้าเอาไว้ว่า ฉันจะสวดมนต์ก่อนนอนทุกวัน หรือปีนี้ฉันจะสวดมนต์ข้ามปี ๑ ชั่วโมงหรือ ๓๐ นาที
แล้วเราทำได้ตามที่ตั้งสัจจะกับตนเองก็ดี หรือขณะสวดมนต์เราสวดด้วยความจริงใจ
ตั้งใจจริง ไม่ทำแบบเหลาะแหละ สวดพอให้แล้วๆ ไป ข้อนี้จัดเป็นสัจจะบารมี
๘) เมื่อสวดมนต์เสร็จเรากระทำการอธิษฐาน
ขอให้ผลบุญที่เราทำจงเป็นปัจจัยหนุนส่งให้เข้าถึงพระนิพพาน ซึ่งเป็นการวางเป้าหมายแก่ชีวิตว่าอยู่ที่พระนิพพาน ข้อนี้จัดเป็น อธิฏฐานบารมี
๙) การแผ่เมตตาแก่ตนเอง การแผ่เมตตาแก่ผู้อื่น หลังการสวดมนต์ จัดเป็นเมตตาบารมี
๑๐) การที่เราปล่อยวางอารมณ์ต่างๆ ทั้งที่ชอบใจ ไม่ชอบใจ ที่เกิดระหว่างสวดมนต์ วางใจให้เป็นกลาง สงบนิ่งจดจ่ออยู่กับบทสวด ไม่ฟุ้งไปตามอารมณ์ที่ต่างที่เกิดแทรกขึ้นมา ข้อนี้จัดเป็นอุเบกขาบารมี
การสวดมนต์หนึ่งครั้งนอกจากจะได้สร้างบารมีได้ไว้ถึง ๑๐ ประการ ดังที่กล่าวมาแล้ว การสวดยังได้ชื่อการรักษาคำสอนของพระพุทธศาสนาเอาไว้ด้วย และที่สำคัญพระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ในวิมุตตายนสูตร ว่า การสวดมนต์เป็น ๑ ใน ๕ ทางแห่งวิมุตติ คือความหลุดพ้นได้ ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น การสวดมนต์จึงถูกคัดเลือกให้เป็นความดีที่ควรทำยิ่งในโวกาสปีใหม่
สวดมนต์ข้ามปีควรสวดบทไหนจึงจะดี จะเขียนถึงในโอกาสหน้า
โดย ศักดิสิทธิ์ พันธุ์สัทธ์
บก. สำนักพิมพ์เลี่ยงเชียง เพียรเพื่อพุทธศาสน์