คำว่า กฐิน แปลว่า ไม้สะดึง เป็นไม้แบบที่ใช้ขึงผ้าสำหรับเย็บ
“ผ้ากฐิน” คือผ้าที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาต
ให้ภิกษุที่จำพรรษาครบ ๓ เดือนในวัดเดียวกัน
ช่วยกันตัด เย็บ ย้อม ทำเป็นผ้าผืนใดผืนหนึ่ง
แล้วให้ทำความตกลงมอบให้กับภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง
ที่เห็นสมควร จัดเป็นสังฆกรรมอย่างหนึ่ง
ที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติขึ้น เพื่อให้ภิกษุที่จำพรรษาแล้ว
อยู่กับวัดต่อไปอีกหนึ่งเดือนจนหมดฤดูฝน
เพราะทรงเห็นว่าออกพรรษาแล้ว
แต่ยังไม่หมดฤดูฝน ไม่สะดวกแก่การจาริก
.
เดิมที ภิกษุต้องแสวงหาผ้ามาและช่วยกัน
ตัด เย็บ ย้อม ทำผ้ากฐินเอง ซึ่งจะต้องทำให้แล้วเสร็จ
ภายในวันเดียว ต่อมามีญาติโยมปรารถนาจะถวายผ้ากฐิน
แก่ภิกษุ พระพุทธองค์จึงอนุญาตให้รับผ้ากฐินจากญาติโยมได้ ผู้ที่ถวายผ้ากฐินเป็นคนแรกคือ นางวิสาขามหาอุบาสิกา
.
กฐิน ถือเป็นกาลทาน คือทานที่ถวายจำเพราะเวลาที่กำหนด
๑ ปี ๑ วัดถวายได้ครั้งเดียว และถวายได้เฉพาะ ๑ เดือนหลังออกพรรษา (ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒)
ประเภทของกฐิน
ในประเทศไทย จำแนกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ ๆ คือ
? กฐินราษฎร์ หมายถึง กฐินที่ประชาชนทั่วไปเป็นเจ้าภาพถวาย มี ๔ ประเภท คือ
๑. มหากฐิน หรือกฐินสามัคคี จัดเป็นงานใหญ่
๒. จุลกฐิน กฐินที่ทำกิจทุกอย่างแล้วเสร็จในวันเดียว
๓. กฐินโจร กฐินที่เจ้าภาพนำไปถวายวัดโดยมิได้จับจอง
๔. กฐินตกค้าง กฐินที่เจ้าภาพนำไปทอดตามวันที่ยังไม่ได้กฐิน
? กฐินหลวง หมายถึง กฐินที่พระมหากษัตริย์เป็นเจ้าภาพถวาย แบ่งเป็น ๓ ประเภท คือ
๑. กฐินที่ทำเป็นพระราชพิธี คือกฐินที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จทอดด้วยพระองค์เอง หรือโปรดเกล้าฯ ให้ตัวแทนพระองค์ นำไปทอดที่พระอารามหลวง
๒. กฐินต้น คือกฐินที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทอดที่วัดราษฎร์ (ไม่ใช่พระอารามหลวง)
๓. กฐินพระราชทาน คือกฐินที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่หน่วยงานราชการหรือเอกชนนำไปทอดที่พระอารามหลวง
อานิสงส์ของกฐิน ที่ปรากฏในพระไตรปิฎก มีเฉพาะพระภิกษุ
รับกฐินเท่านั้น ซึ่งมี ๕ ประการคือ
๑. เที่ยวไปที่อื่นได้โดยไม่ต้องบอกลาภิกษุด้วยกัน
๒. เที่ยวไปโดยไม่ต้องนำผ้าไตรจีวรไปครบ ๓ ผืน
๓. ฉันคณโภชนะ คือฉันเป็นวงได้
๔. เก็บอติเรกจีวรได้ตามปรารถนา
๕. ลาภที่เกิดขึ้นในวัดเป็นของเฉพาะแก่ภิกษุผู้จำพรรษา
.
ส่วนอานิสงส์ของผู้ถวายกฐินนั้น ไม่มีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎก
แต่มีกล่าวในที่ทั่วไปว่า
๑. จะเกิดในตระกูลที่ดี มีสัมมาทิฏฐิ มีชื่อเสียง เกียรติยศดีงาม
๒. เกิดมามีร่างกายที่ได้คุณลักษณะงดงามสมส่วน
๓. เกิดมามีผิวพรรณดี จิตใจแจ่มใส ร่าเริงเบิกบาน
๔. เกิดมามีทรัพย์สมบัติมาก ไม่ลำบากในการเลี้ยงชีพ
๕. เมื่อละโลกไปแล้วจะได้เกิดในสวรรค์
พระราชพรหมยาน (หลวงปู่ฤาษีลิงดำ) ได้กล่าวถึงอานิสงส์
การถวายกฐินไว้ว่า
“บุคคลที่ทอดกฐินครั้งหนึ่งในชีวิต
จะปรารถนาพระโพธิญาณก็ย่อมได้
นั่นหมายความว่า จะปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าก็ได้
จะปรารถนาเป็นอัครสาวกก็ได้
จะปรารถนาเป็นมหาสาวกก็ได้
จะปรารถนาเป็นพระอรหันต์ปกติก็ได้
รวมความว่า ถ้ายังไม่ถึงพระนิพพานเพียงใด
คำว่า ยากจนเข็ญใจจะไม่มีแก่ยาติโยมทุกชาติ”
บทความธรรมทานโดย
ศักดิ์สิทธิ์ พันธุ์สัทธ์
บรรณาธิการสำนักพิมพ์เลี่ยงเชียง